เบอร์โทร 0-2411-5657-9

ข้อมูลทั่วไป

เต้านมของเราประกอบไปด้วย

ต่อมน้ำนม (lobe) มีหน้าที่สร้างน้ำนม โดยปกติจะมีประมาณ 15-20 ต่อม เชื่อมต่อกันด้วย ท่อน้ำนม (ducts) ซึ่งจะคอยนำน้ำนมจากต่อมน้ำนมไปยัง หัวนม (nipple) ส่วนประกอบทั้งสองนี้ จะถูกล้อมรอบด้วย เนื้อเยื่อไขมัน (fatty or adipose tissue) และ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (fibrous connective tissue) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเต้านม ทำให้เต้านมคงรูปร่างอยู่ได้ นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น หลอดเลือด เส้นประสาท และต่อมน้ำเหลือ แทรกอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อไขมันอีกด้วย

แก้ไขล่าสุด : 21/07/2560
ข้อมูลโดย : พญ.ประภาลักษณ์ ไชยเจริญ รังสีแพทย์ประจำศูนย์ถันยรักษ์
อ้างอิง :
www.abcf.org
www.clermontoncology.com
www.nationalbreastcancer.org
www.thaibreast.org

มะเร็งเต้านมคืออะไร

มะเร็ง เป็นผลมาจากการกลายพันธุ์หรือความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ โดยปกติแล้ว เซลล์ในร่างกายของเราจะมีการแทนที่กันตามกระบวนการการเจริญเติบโตของเซลล์ กล่าวคือ เซลล์ใหม่ที่แข็งแรง จะมาแทนที่เซลล์เก่าที่อ่อนแอและตายไป แต่การกลายพันธุ์ของยีนจะทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมากผิดปกติ และเกิดเป็นเนื้องอกขึ้น

เนื้องอก อาจเป็นได้ทั้งเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง (benign) หรือเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง (malignant) ก็ได้ เนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงมักมีลักษณะของเซลล์ที่คล้ายคลึงกับเซลล์ปกติ โตช้า ไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง และไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย ในทางตรงกันข้าม เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง จะเติบโตค่อนข้างเร็ว มีการลุกลามไปเนื้อเยื่อและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ข้างเคียง และแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย

มะเร็งเต้านม ก็คือ มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม ซึ่งอาจจะเกิดจากเซลล์ที่อยู่ในท่อน้ำนม (ductal cancer) หรือเซลล์ที่อยู่ในต่อมน้ำนม (lobular cancer) มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากเนื้อเยื่อชนิดอื่นๆ จากสถิติของสถานวิทยามะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช พบว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มของอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการที่มีเครื่องแมมโมแกรมที่ช่วยให้ตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้มากขึ้น และจากสภาพแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป มีความคล้ายคลึงกับประเทศทางตะวันตกมากขึ้น

เซลล์มะเร็งเต้านม มักจะลุกลามเนื้อเยื่อเต้านมปกติที่อยู่รอบๆ กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ผนังทรวงอก หรือไหปลาร้า และกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ตับ สมอง ปอด เป็นต้น

มะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่เกิดขึ้นเองจากอายุที่เพิ่มขึ้น มีเพียง 5-10% ที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง

แก้ไขล่าสุด : 21/07/2560
ข้อมูลโดย : พญ.ประภาลักษณ์ ไชยเจริญ รังสีแพทย์ประจำศูนย์ถันยรักษ์
อ้างอิง :
www.breastcancer.org

อาการของมะเร็งเต้านม

ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยมักจะยังไม่มีอาการผิดปกติอะไร ตัวก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยังไม่สามารถคลำได้ด้วยมือหรือทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆกับเต้านมจนสังเกตเห็นความผิดปกติได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักตรวจเจอความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Screening mammography)

ต่อมาผู้ป่วยมักจะคลำได้ก้อนที่เต้านม โดยเฉลี่ยแล้วก้อนที่คลำได้ในคนที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ มักมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 2 ซม. และขนาด 3-5 ซม. ในคนที่ไม่เคยตรวจเต้านมด้วยตนเอง ก้อนที่เป็นมะเร็งนั้น ส่วนใหญ่มักจะแข็ง ขอบเขตไม่ชัดเจน และไม่เจ็บ แต่ก็จะมีผู้ป่วยบางรายที่ก้อนมะเร็งมีลักษณะนุ่ม ขอบเขตชัด และเจ็บได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เมื่อท่านสงสัยหรือตรวจพบก้อนที่บริเวณเต้านม

อาการอื่นๆของโรคมะเร็งเต้านมได้แก่

- เต้านมบวมหรือใหญ่ขึ้นผิดปกติ
- มีรอยบุ๋มที่ผิวหนังบริเวณเต้านม
- เจ็บเต้านมหรือหัวนม
- หัวนมบุ๋มหรือถูกดึงรั้งเข้าไปด้านใน
- ผิวหนังแดง หนา เป็นขุย หรือเป็นแผลบริเวณหัวนมหรือเต้านม
- มีน้ำนมหรือเลือดไหลออกจากหัวนม

แก้ไขล่าสุด : 21/07/2560
ข้อมูลโดย : พญ.ประภาลักษณ์ ไชยเจริญ รังสีแพทย์ประจำศูนย์ถันยรักษ์
อ้างอิง :
www.cancer.org
www.breastcancer.org