โลโก้ มูลนิธิถันยรักษ์มูลนิธิถันยรักษ์

แมมโมแกรม

  • เครื่องเอกซเรย์เต้านม
  • เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้สร้างภาพภายในเนื้อเยื่อของเต้านมโดยใช้รังสีเอกซ์ขนาดกำลังต่ำ การตรวจแมมโมแกรม นั้นเป็นการตรวจเพื่อหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งทำให้มีโอกาสรักษาให้หายได้

    Digital Breast Tomosynthesis หรืออาจเรียกว่า Three Dimensional (3-D) Mammography และ Digital breast tomosynthesis (DBT) เป็นเครื่องที่ถ่ายภาพเต้านมจากการตรวจเต้านมในหลายมุม และนำภาพเหล่านั้นมา สร้างขึ้นเป็นภาพเนื้อเยื่อเต้านมในรูปแบบ 3 มิติ (Reconstruction) ทำให้ไม่ต้องใช้แรงกดมาก อีกทั้งรังสีแพทย์ยัง สามารถอ่านผลได้สะดวก ชัดเจนและแม่นยำขึ้น ลดอัตราการเรียกผู้มาตรวจกลับมาตรวจซ้ำ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการคัดกรองผู้มาตรวจ ในการเจาะตัดชิ้นเนื้อ รังสีแพทย์สามารถดูภาพได้ในแต่ละมิติหรือแต่ละสไลด์จากภาพ Reconstruction เพื่อดูขอบเขตและรูปร่างของก้อนเนื้อที่สงสัย สามารถแยกแยะความแตกต่างของไขมันและเนื้อเยื่อ อื่นๆ รวมทั้งท่อและต่อมต่างๆในเต้านม นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจพบหินปูนที่มีขนาดเล็กมากๆ ที่คาดว่าจะผิดปกติ อาจกลายเป็นมะเร็งในอนาคต ทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จึงมีโอกาสรักษาให้หายได้ ถึงแม้ว่า การตรวจด้วยวิธีนี้ จะต้องใช้ปริมาณรังสีสูงกว่าการตรวจด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรมปกติ แต่ปริมาณ รังสีไม่เกินกว่าปริมาณที่อนุญาตโดยสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา

    ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า Mammogram เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ก่อนที่จะคลำพบก้อน การตรวจแมมโมแกรม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การเอกซเรย์เต้านม เป็นการตรวจทางรังสีที่ใช้ รังสีเอกซ์ในการถ่ายภาพเต้านมโดยเฉพาะ ซึ่งรังสีที่ใช้ตรวจเป็นรังสีพลังงานต่ำ แต่สามารถแยกแยะรายละเอียดใน เต้านมได้ดีไม่ว่าจะเป็นต่อมน้ำนม ไขมัน ก้อนเนื้อ หรือ กลุ่มหินปูน เป็นต้น

  • การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม ทำอย่างไร
    1. การตรวจที่ศูนย์ถันยรักษ์นั้น นักรังสีการแพทย์ที่ผ่านการอบรมเฉพาะทาง ด้านเต้านม (Mammographer) จะเป็น ผู้ทำการถ่ายภาพ โดยเริ่มต้นด้วยการจัดตำแหน่งของเต้านมให้พอเหมาะกับแผ่นรองรับที่ตัวเครื่อง และค่อยๆกดเต้านม เพื่อให้เนื้อเยื่อแผ่ออก และไม่ขยับระหว่างทำการถ่ายภาพ

    2. การกดเต้านมมีความสำคัญเพื่อทำให้เนื้อเยื่อแผ่ออกเท่าๆ กัน มองเห็นได้ใกล้เคียงกันจากภาพถ่าย จุดผิดปกติเล็กๆ จะได้ไม่ถูกบังโดยเนื้อเยื่อที่ซ้อนทับกัน ทำให้สามารถใช้รังสีปริมาณน้อยลง เนื่องจากเนื้อเยื่อบางลงและลดการสะท้อน ของรังสีในเนื้อเยื่อ ลดปริมาณรังสีที่ผู้มาตรวจจะได้รับ ทำให้เต้านมอยู่นิ่งไม่ขยับ ภาพชัดเจนขึ้น

    3. โดยทั่วไปการถ่ายภาพเต้านมแต่ละข้าง จะถ่าย 2 ท่ามาตรฐานคือ craniocaudal และ mediolateral oblique views เพื่อที่จะได้เห็นเนื้อเต้านมทั้งหมด หลังจากถ่ายภาพเสร็จ รังสีแพทย์จะเป็นผู้ประเมินพร้อมทั้งแปลผลภาพ และพิจารณาว่าจะต้องถ่ายภาพหรือตรวจด้วยเครื่องมืออื่นๆเพิ่มเติมหรือไม่